วันเสาร์

ส่วนประกอบของสมอง

ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้


1.  สมองส่วนหน้า (Fore brain หรือ Prosrncephalon)
        สมองส่วนหน้า ประกอบด้วยออลเฟกทอรีบัลบ์  เซรีบรัม  ทาลามัส  และไฮโพทาลามัส
        1.1  ออลแฟกทอรีบัลบ์ (olfactory  bulb) เป็นสมองอยู่ส่วนหน้าสุด ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น  สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ จะเจริญดียกเว้นในคน  ส่วนนี้จะอยู่ด้านล่างของซีรีบรัม  อันเป็นส่วนใหญ่ของสมอง  ในสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ  เช่น  ปลา  กบ  ส่วนนี้เจริญดีมาก  มีขนาดใหญ่  จึงใช้ดมกลิ่นได้ดี
        1.2  เซรีบรัม (cerebrum) ส่วนนี้กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของสมอง ที่ผิวด้านนอกเป็นเนื้อสีเทา  และมีรอยหยัก  หนาประมาณ  3  มิลลิเมตร  การมีรอยหยักทำให้เพิ่มพื้นที่สมองมากขึ้น  โดยเฉพาะรอยหยักที่ผิวด้านนอกของสมองคนเป็นลักษณะที่มีการพัฒนามากที่สุด  ด้านในเป็นเนื้อสีขาวของใยประสาท ที่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม ส่วนที่เป็นเนื้อสีเทาประกอบด้วยแอกซอนที่ไม่มีเยื่อไมอีลินและตัวเซลล์ประสาท  หากมองจากด้านบนจะเห็นลักษณะเป็นก้อนเกือบกลม  2  ก้อน  อยู่ทางด้านซ้ายขวา  แต่ละก้อนเรียกว่า เซรีบรัลเฮมิสเฟียร์ (cerebral  hemisphere) โดยมีแถบเส้นประสาท (corpus  callosum) เชื่อมโยงเอาไว้
        บนผิวของเซรีบรัลคอนเทกซ์ (cerebral  cortex) แบ่งเป็น  3  ส่วนตามหน้าที่คือ  บริเวณรับความรู้สึก  (sensory  area) ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากอวัยวะรับความรู้สึก  บริเวณควบคุมการทำงาน (moter  area) ควบคุมการทำงานหรือเคลื่อนไหวต่าง ๆ  และบริเวณเชื่อมโยง (association  area) ซึ่งเชื่อมโยงบริเวณรับความรู้สึกและบริเวณควบคุมการทำงาน  ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความคิด  การเรียนรู้  ความฉลาด  ความสามารถในการใช้ภาษาพูด  ความจำ  การตัดสินใจ  และบุคลิกภาพ
        ในคนสมองส่วนนี้พัฒนามากที่สุด  มีรอยหยัก (convolution) บนสมองส่วนนี้มากที่สุด  แต่สัตว์ชั้นต่ำมีรอยหยักน้อยกว่า และมีขนาดสมองเล็กกว่าสมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้  ไหวพริบ  เชาวน์  ปัญญา  ความจำ  รวมทั้งเป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกายบางส่วน  เช่นศูนย์กลางการรับเสียง ศูนย์รับรส  ศูนย์รับกลิ่น  ศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายตามบริเวณต่าง    ศูนย์รับรู้ประสาทสัมผัส  ศูนย์ควบคุมการพูด  ศูนย์การรับภาพ
      1.3  ทาลามัส (thalamus)  อยู่ใต้เซรีบรัมและอยู่เหนือไฮโพทลามัส  ทำหน้าที่เหมือนศูนย์ถ่ายทอดสัญญาณของร่างกายระหว่างไขสันหลังและเซรีบรัมโดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมกระแสประสาทที่ผ่านเข้าแล้วถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับกระแสประสาทนั้น ๆ โดยแปลสัญญาณที่รับเข้ามาก่อนส่งไปยังเซรีบรัม เช่น รับกระแสประสาทจากหูแล้วเข้าเซรีบรัมบริเวณศูนย์การรับเสียง
     1.4  ไฮโพทาลามัส (hypothalamus) อยู่ถัดจากทาลามัสลงไปทางด้านล่างของสมอง  ปลายสุดของสมองส่วนนี้มีต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิดส่งไปควบคุมการสร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมองอีกต่อหนึ่ง  นอกจากนั้นยังมีหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย  การเต้นของหัวใจ  ความดันเลือด  การนอนหลับ  ความหิว  ความอิ่ม  ความกระหาย  รวมทั้งเป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ เช่น  ดีใจ  เสียใจ  โศรกเศร้า  และความรู้สึกทางเพศ 
2.  สมองส่วนกลาง (Mid  brain)
        2.1  ออปติกโลบ (optic  lobe) เป็นส่วนที่พองออกไปเป็นกระเปาะ  ในคนส่วนนี้ถูกเซรีบรัมบังเอาไว้  ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนนี้มีอยู่  4  กระเปาะ  แต่ในสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ส่วนนี้มีเพียง  2  กระเปาะ  ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับภาพ  รวมทั้งความรู้สึกจากหู  จมูก  และในปลายังใช้รับความรู้สึกเกี่ยวกับเสียงจากเส้นข้างตัว (lateral  line) 
        สมองส่วนนี้ในสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำจะมีขนาดใหญ่ และมีขนาดเล็กลงในสัตว์ชั้นสูงขึ้น  โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีขนาดเล็กที่สุด
3.  สมองส่วนท้าย (Hind brain)
        สมองส่วนท้าย ประกอบด้วย  3  ส่วน คือ เซรีเบลลัม  พอนส์  และเมดัลลาออบ ลองกาตา
        3.1  เซรีเบลลัม (cerebellum) สมองส่วนท้ายทอยทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ต่อเนื่อง  เที่ยงตรง  ราบรื่น  จนกระทั่งสามารถทำงานชนิดละเอียดอ่อนได้  และทำให้ร่างกายสามารถทรงตัวได้  โดยรับความรู้สึกจากหู  ที่เกี่ยวกับการทรงตัว  แล้วเซรีเบลลัมแปลเป็นคำสั่งส่งไปยังกล้ามเนื้อ
        3.2  พอนส์ (pons) อยู่คนละด้านของเซรีเบลลัมติดต่อกับสมองส่วนกลาง  เป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างเซรีบรัมกับเซรีเบลลัม  และระหว่างเซรีเบลลัมกับไขสันหลัง  พอนส์ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเคี้ยว   การหลั่งน้ำลาย  การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า  และการหายใจ
        3.3  เมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) เป็นส่วนสุดท้ายของสมอง  ตอนปลายสุดของสมองส่วนนี้อยู่ติดกับไขสันหลัง  จึงเป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างสมองกับไขสันหลัง  เมดัลลาออบลองกาตานี้เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติ   ต่าง ๆ เช่น การหมุนเวียนเลือด  ความดันเลือด  การเต้นของหัวใจ  ศูนย์ควบคุมการหายใจ  นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ควบคุมการกลืน  การไอ  การจาม  และการอาเจียน
        สมองส่วนกลาง พอนส์  และเมดัลลาออบลองกาตา  สามส่วนรวมกันเรียกว่า  ก้านสมอง (brain  stem) ภายในก้านสมองพบกลุ่มเซลล์ประสาทและใยประสาทเชื่อมระหว่างเมดัลลาออบลองกาตากับทาลามัส  เป็นศูนย์ควบคุมการนอนหลับ  การรู้สึกตัวหรือความมีสติ  ศูนย์ควบคุมการหายใจ  ความดันเลือด  การควบคุมอุณหภูมิ  และการหลั่งเอนไซม์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น